วันอังคารที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2551

อินเทลพร้อมลุยตลาดใหม่ Solid-State Drives

นอกเหนือไปจากตลาดทางด้านซีพียูแล้ว ตลาดหน่วยความจำแบบ NAND Flash Memory ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่อินเทลที่กำลังรุกเข้ามาอย่างเงียบๆ ซึ่งถ้าใครยังนึกไม่ออก ขอให้นึกถึง Intel Turbo Memory ที่เปิดตัวครั้งแรกใน Intel Centrino Santa Rosa เพราะนั่นก็คือ การนำ NAND Flash Memory มาใช้ประเภทหนึ่ง และอีกทางหนึ่งที่มีการนำไปใช้ล่าสุดก็คือ การนำไปผลิตเป็นฮาร์ดดิสก์แบบ Solid-State Drive : SSD

สองเทคโนโลยีสู่หนึ่งผลิตภัณฑ์

จากข่าวคราวที่ผ่านมาตั้งแต่ต้นปีของอินทลไม่ว่าจะเป็น ไตรมาสหนึ่งที่อินเทลก็ร่วมมือกับไมครอนในการพัฒนา NAND Flash memory ที่เร็วกว่าเดิมถึง 5 เท่า คือจากเดิมก็ทำความเร็วในการอ่านข้อมูลได้แค่เพียง 40 MB/s และเขียนนั้นทำได้ที่ 20 MB/s มาเป็นความเร็วในการอ่านข้อมูลได้สูงสุดถึง 200 MB/s และเขียนข้อมูลได้เร็วถึง 100 MB/s และไตรมาสที่สองที่ผ่านมานี้อินเทลก็ได้ร่วมมือกับไมครอนอีกครั้งผลิตชิบ NAND Flash Memory ขนาด 32 กิกะบิต ที่ขนาด 34 ไมครอน พอมาไตรมาสที่สามนี้อินเทลก็เอาเทคโนโลยีทั้งสองมารวมกันแล้วผลิตเป็นฮาร์ดดิสก์ SSD ออกในงาน IDF เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี้ ซึ่งตอนที่อยู่ในงานนั้น ทางอินเทลเองก็ไม่ได้บอกว่าร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับใคร แต่ในขณะที่เดินในงาน IDF ก็ไปเจอป้ายรูปสินค้าข้อมูลในบูตของ Kingston ดังนั้นข้อมูลที่เรารู้เพียงอย่างเดียว ณ วันนี้ ก็คือ อินเทลมีพาร์ทเนอร์รายแรกแล้ว คือ Kingston ซึ่งนั่นแสดงว่าในตลาด SSD ก็จะมีคู่แข่งเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งรายแล้ว





มาดูทางด้านสเป็กกันบ้าง

ในงาน IDF นั้นทางอินเทลเปิดตัวพร้อมๆ กัน 3 แบบ คือ X25-M และ X18-M โดยมีขนาด 2.5 และ 1.8 นิ้วตามลำดับ ซึ่งเป็นรุ่นที่จะมาเจาะตลาดเดสก์ท็อปกับโน้ตบุ๊ก โดยจะผลิตและออกจำหน่ายได้ในเเดือนกันยายนที่ขนาด 80 กิกะไบต์ และในไตรมาสที่สี่ปีนี้จะผลิตได้ที่ขนาด 160 กิกะไบต์ ส่วนอีกรุ่นคือ X25-E จะเป็นสำหรับตลาดองค์กรเพื่อใช้สำหรับเวิร์กสเตชัน สตอเรจ และเซิร์ฟเวอร์ โดยจะมีขนาด 32 กิกะไบต์ และ 64 กิกะไบต์ ซึ่งทางอินเทลคาดว่าจะผลิตเพื่อสู่ตลาดได้ในอีก 90 วันนับจากผลิตตัว X25-M และ X18-M สำหรับความเร็วในการอ่านและการเขียนนั้น สามารถอ่านถึง 250 MB/s และเขียนข้อมูลได้เร็วถึง 70 MB/s ซึ่งจากข้อมูลนี้นั่นแสดงว่าผลิตภัณฑ์ที่ออกนี้จะอ่านได้เร็วกว่า แต่เขียนช้ากว่า NAND Flash memory ที่ร่วมพัฒนากับไมครอนเมื่อต้นปี


ไม่ได้มีแต่ SATA เท่านั้น PATA ก็มีด้วย

หลังจากกลับงาน IDF 2008 ได้ พอเข้าไปดูในเว็บไซต์อินเทล http://www.intel.com/design/flash/nand นอกเหนือไปจากอินเทอร์เฟซแบบ SATA แล้วอินเทลยังมีอินเทอร์เฟซแบบ PATA ด้วย คือ Z-P230 และ Z-P140 ซึ่งสาเหตุที่มีก็เพราะในปี 2006 ทางอินเทลเริ่มประกาศถึงแพลตฟอร์ม Atom ซึ่งในขณะนั้นสนับสนุนอินเทอร์เฟซแบบ PATA เพียงอย่างเดียว ดังนั้นทางอินเทล (Nand Product Group) จึงตัดสินใจเลือกผลิตทั้งแบบ SATA และ PATA สำหรับข้อมูลในส่วนของ ZP230 ได้รับการออกแบบมาใช้เพื่อใช้กับ Netbook และ Nettop มีความจุขนาด 4 กิกะไบต์และ 8 กิกะไบต์ตามลำดับ ส่วนขนาด 16 กิกะไบต์จะออกในไตรมาสสี่ ส่วน Z-P140 ออกแบบสำหรับเครื่อง MID รวมไปถึงมือถือด้วย มีความจุขนาด 4, 8 และ 16 กิกะไบต์
สำหรับคนที่ต้องการดูว่า SSD ของอินเทลทำงานได้อย่างไรนั้นคลิ๊กไปที่ http://www.intel.com/design/flash/nand/demo/demo.htm ได้เลยครับ

โดย Jakkrapol Deeyuen, PC Magazine Thailandอัพเดต 11 กันยายน 2008 เวลา 11:13 น.

ไม่มีความคิดเห็น: